แนวโน้มใหญ่ผ่านมหาเศรษฐีของโลก
Leave a commentApril 17, 2011 by Lin
การศึกษาแนวโน้มใหญ่อีกวิธีของผมคือคอยตามว่ามหาเศรษฐีของโลกในแต่ยุคสมัย ร่ำรวยขึ้นมาจากธุรกิจอะไร
Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook ตัวแทนมหาเศรษฐีวัยหนุ่ม ธุรกิจอนาคตในอุตสาหกรรม IT
ดังนั้นทุกครั้งที่มีการจัดอันดับ ผมจะนั่งดูรายละเอียด บางครั้งก็ชอบขุดลึกขนาดเจาะประวัติบุคคลเหล่านั้นมาศึกษา ซึ่งมักได้รับมุมมองดี ๆ เสมอ
ล่าสุด Forbe ทำการจัดอันดับมหาเศรษฐีของโลก โดยแบ่งเป็นภูมิภาคต่าง ๆ และแบ่งตามรายอุตสาหกรรม รวมถึงการบอกแหล่งที่มาของความมั่งคั่ง ว่าสร้างขึ้นมาเอง หรือได้รับช่วงต่อ แน่นอนว่าการลงไปดูรายละเอียด น่าสนใจกว่าที่จะรู้ว่าบิลเกต บัฟเฟต หรือเจ้าสัวธนินทร์จะได้อันดับเท่าไหร่
ประเด็นแรก เศรษฐีในเอเชียส่วนใหญ่ร่ำรวยมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการผลิตมาก ซึ่งผมเคยคุยกับคนรู้จักหลาย ๆ คน ก็พบเหมือนกันว่า Wealth ของคนไทยในช่วงหลายสิบปีก่อน คือคนในช่วง Baby Boom มักจะสร้างความมั่งคั่งผ่านการเปิดโรงงาน ผลิตสินค้า และส่งออก อีกส่วนหนึ่งคือความร่ำรวยที่เกิดขึ้นจาก “ที่ดิน” ที่มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ในมุมกลับกัน กลุ่มทวีปที่ประกอบด้วยประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก อย่างอเมริกาเหนือ หรือยุโรป กลับมีโครงสร้างความมั่งคั่งของเศรษฐีที่แตกต่าง โดยประเทศอเมริกาเหนือ เศรษฐีส่วนใหญ่กลับร่ำรวยจากการลงทุน และธุรกิจทางการเงิน ธุรกิจการค้า รวมถึงธุรกิจทางการให้บริการเป็นหลัก ธุรกิจที่เป็นตะวันตกดินอย่างธุรกิจการผลิต มีสัดส่วนมหาเศรษฐีที่ต่ำกว่าเอเชียมาก รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ทวีปที่มีอายุมาก ๆ อย่างยุโรป ก็ผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจการออกแบบ แฟชั่น ซึ่งก็สร้างมหาเศรษฐีมากมายผ่านตราสินค้า ที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในสินค้าหรูหราที่มีราคาแพง
ทริปท่องเที่ยวล่าสุดผมแวะนิวยอร์ค และได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ซึ่งเปรียบเหมือนตัวแทนของทุนนิยมประเทศสหรัฐอเมริกา สิ่งที่พบคือ ตึกรามบ้านช่องที่สูงเสียดฟ้า กลับถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 30 ซึ่งเป็นช่วงที่อเมริกาเริ่มมีบทบาทเป็นผู้นำในเวทีโลกแทนที่ยุโรป ความร่ำรวยของผู้คนในยุคนั้นเช่น ร็อกกี้ เฟลเลอร์ (และรุ่นจูเนียร์) มีมาจากธุรกิจผลิต(น้ำมัน) และอสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับช่วงหลายสิบปีให้หลัง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความเชื่องช้า ธุรกิจการผลิตหลายอย่างที่เคยเฟื่องฟูในหลาย ๆ เมืองอย่างบัลติมอร์ หรือฟิลาเดลเฟีย ก็ซบเซาลง
เรื่องราวสั้น ๆ ข้างต้น ผมเพียงอยากจะมายกตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจ Megatrend ตัวอย่างหนึ่งว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกิดจากการเติบโตของเมือง (Urbanization) รวมถึงการเติบโตของจำนวนประชากรเป็นหลัก ประเทศที่ความเจริญจะเกิดการกระจายตัวสู่ชนบทอย่างสมดุลและอัตราการเกิดต่ำ ทำให้เมืองใหญ่มีการเติบโตช้าลง ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจในเวลาต่อมา รวมถึงแนวโน้มความมั่งคั่งที่เปลี่ยนแปลงไปกับมหาเศรษฐีในอนาคตของเอเชีย
แต่สิ่งที่ไม่อาจสรุปได้คือ เอเชียกำลังมุ่งหน้าไปบนเส้นทางเดียวกับประเทศพัฒนาหรือไม่ เอเชียเป็นอดีตของประเทศเหล่านี้ แต่อาจจะไม่มีอนาคตในแบบเดียวกัน อย่างไรก็ดีจากประสบการณ์ที่ผมเห็นผ่านการอ่าน ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยตาม ๆ กัน อาจจะเพราะว่า โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์มีความเหมือนกัน ไม่ว่าจะชนชาติไหน
ดังนั้นการลงทุนตามแนวโน้มเหล่านี้ มีโอกาสถูกมากกว่าผิด และเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะเข้าไปดูในรายละเอียด
เพราะมันหมายถึงการตัดสินใจการลงทุนที่มีผลอนาคตอีกหลายสิบปีของคุณ
ติดตามรายละเอียดได้ในหนังสือ Forbe หรือ http://www.forbes.com/wealth/billionaires ครับ