การลงทุนแบบ VI ยากหรือง่าย
5August 2, 2009 by Lin
ผมสงสัยมานานเหมือนกันว่า การลงทุนแบบ VI (Value Investment) ยากหรือง่าย เพราะอะไร และสิ่งไหนเป็นอุปสรรค หรือเส้นทางที่จำเป็นจะต้องฝ่าฝันเพื่อเป็นนักลงทุนแบบ VI ถ้าจะให้เปรียบผมขอเปรียบเหมือนขึ้นบันไดห้าขั้น
บันไดขั้นแรก คือการเปิดใจเรียนรู้และศรัทธาในสิ่งที่ทำ
หลายครั้งที่คุยกับเพื่อน ๆ รอบตัวที่เป็นนักลงทุน ผมพบว่าแท้จริงแล้วนักลงทุนทุกคน มีความมั่นใจสูงมากเสมอ แม้ภายนอกจะดูถ่อมตนหรือไม่ก็ตาม ซึ่งสิ่งนี้เป็นอุปสรรคแรกให้คนปิดใจ ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แม้แต่ในทางกลับกัน ผมก็เห็น VI หลายคน ไม่เรียนรู้การดูเทคนิคหรือวิธีือื่น ๆ ถึงอยากรู้ก็ไปศึกษาแ่ต่เพียงผิวเผิน ดังนั้นแม้เปิดใจก็อาจจะไม่เพียงพอ “ความศรัทธา” ต่างหากที่เป็นอุปสรรคให้คนส่วนมากไม่ผ่านแม้แต่บันไดขั้นแรก
บันได้ขั้นที่สอง คือการศึกษา
ถ้าเป็นนักลงทุนแบบ VI อย่างน้อยก็จำเป็นที่จะศึกษาหรือมีกรอบวิธีเพื่อประเมินมูลค่าเสมอ ไม่ว่าจะพื้นฐานอย่าง PE (Price/Earning), ซับซ้อนขึ้นมาก็เป็น DCF (Discount Cash Flow model) หรือวิธีอื่น ๆ ที่ตำราจะว่ากัน รวมถึงความรู้ในตัวกิจการ ผู้บริหาร อุตสาหกรรม คู่แข่ง สินค้า ฯลฯ ถ้าสังเกตนักลงทุน VI ที่ประสบความสำเร็จทุกคน จะมีนิสัยรักการอ่าน ชอบศึกษา รู้จริง แตกต่างกับนักเล่นหุ้นที่โดยมากจะำจำได้เพียง “ราคาเมื่อวาน”
บันไดขั้นที่สาม คือจินตนาการ
ตรงนี้เป็นอะไรที่ยากขึ้นมาก และต้องใช้ทั้งพรสวรรค์และพรแสวงในการสร้าง ผู้บริหารต้องการวิสัยทัศน์ในการบริหารฉันใด นักลงทุนก็ต้องการวิสัยทัศน์ในการลงทุนฉันนั้น การมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นยังมองไม่เห็นนั้น เป็นศิลป์มากกว่าศาสตร์ นอกจากนั้นแท้จริงแล้วการประเมินมูลค่าในแบบที่ใช้จินตนการมักจะมีคุณภาพดีกว่า การประเมินมูลค่าแบบตลาด ๆ ทั่วไป เพราะบริษัทต่างกัน แนวทางการประเมินจึงไม่จำเป็นต้องทำเหมือนในตำราเสมอไป ถ้านึกไม่ออกก็ให้ลองจินตนาการอาร์คิมิดิสตอนที่เขาลงอ่างอาบน้ำ แล้วนำหลักการแทนที่น้ำไปใช้พิสูจน์มงกุฎของพระราชาไฮเออรอน ใครล่ะจะไปคิดว่าการพิสูจน์มงกุฎจะใช้วิธีอื่นนอกจากตาชั่ง สิ่งนี้คือจินตนาการในแบบที่นักลงทุนแบบ VI ต้องการ
บันไดขั้นที่สี่ คือสติ สัมปชัญญะ
หลายครั้ง นักลงทุนมักขาดสติ เพราะราคาหุ้นเคลื่อนไหวแรงมาก บ้างก็ว่าตลาดผันผวน นักลงทุนต่างชาติ การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เกิดข้างนอก แต่เกิดขึ้นในใจเราต่างหาก นักลงทุนถูกสิ่งที่เรียกว่ากิเลส มากระทบผัสสะ จนทำให้สติในการคิดและตัดสินใจอ่อนด้อยลงไป ความกลัวและความโลภ คือศัตรูตัวฉกาจ นักลงทุน VI คือคนที่นอกจากมีอิสระทางความคิดจากตลาดแล้ว ต้องมีอิสระทางความคิดจากกิเลสตนเองอีกด้วย
บันไดขั้นที่ห้า คือการรักษาศีล
การรักษาศึลที่ว่าไม่ได้หมายถึงศีล 5 แต่การรักษา”ความเป็นปกติในแนวทาง VI” และบันไดขั้นสุดท้ายนี้ ถือเป็นสุดยอดหินที่จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบข้างต้นทั้งหมดครบบริบูรณ์ และต้องร้อยเรียงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและยาวนานเพียงพอ ขึ้นชื่อว่าศีล ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่ทุก ๆ คนก็มักละเมิดเผลอเรออยู่เสมอ ส่วนนี้ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือจะต้องมีผู้ร่วมปฏิบัติ หรือมีเพื่อนอยู่ข้าง ๆ กัลยานมิตรจะอุปถัมภ์ค้ำชูกัน และคอยเตือนทุกครั้งที่เราประมาทในชีวิตการลงทุน
กลับมาที่คำถามที่ถูกตั้งแต่แรกว่าการลงทุนแบบ VI ยากหรือง่าย ผมว่ามีแต่ผู้ที่ลองขึ้นบันไดแล้วเท่านั้นที่จะรู้คำตอบ
หมายเหตุ : หลักการของการลงทุนแบบ VI คือ ซื้อหุ้นเสมือนเราลงทุนเป็นเจ้าของกิจการ โดยซื้อที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า และถือไปเรื่อย ๆ จนกว่าราคาจะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ
ขั้นแรกสำคัญที่สุดเลยครับ ผมเรียกว่า Passion ถ้ามีตัวนี้ไม่ว่าสิ่งไหนที่ดูว่าเป็นเรื่องยากกลับกลายเป็นเรื่องง่าย แต่ Value Investor ต้องมีความอดทนสูงด้วยครับ
เป็นเกียรติมากครับที่คุณ offshore มาเยี่ยม
ผมขอ link ไป blog พี่เลยแล้วกันครับ
passion ชอบคำนี้มากครับ เห็นด้วยอย่างยิ่ง
แลกลิงค์กันป่าวครับคุณ admin ยินดีที่ได้รู้จักครับ
ยินดีเช่นกันครับ ตอบช้าไปหน่อยเพราะเพิ่งกลับจากบาหลีครับ
add เรียบร้อยแล้วนะครับ บล็อคน่าสนใจ เหมาะกับวิถีชาวพุทธดีครับ
ผมมาจาก เว็บ คุณสุมาอี้ครับ เห็นมี link ใหม่ๆ เลยตามเข้ามาดู โห ใช้ได้เลยครับ สุดยอดขอบอก เป็นชีวิตที่น่าอิจฉา ถ้าผมเป็นคุณจะหยิกแก้มตัวเอง ว่านี้คือชีวิตจริงๆ ไงก็ขอสวัสดีครับผมมือใหม่ครับ การลงทุนผมสนใจครับแต่ก็กำลังศึกษาไปเรื่อยๆๆ รอให้พร้อมกว่านี้ก่อน